วันอังคารที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2557




กว่าจะเป็นละครดึกดำบรรพ์” 


รำลึกเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ

    หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงได้รับฟังพระยาเทเวศร์วิวัฒน์บอกเล่าถึงความประทับใจในการได้เข้าชมละครโอเปร่าที่ยุโรป พระองค์จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะจัดสร้างละครดึกดำบรรพ์ขึ้นมาใหม่ เป็นนาฏศิลป์ไทยที่ซ่อนกลิ่นอายความเป็นโอเปร่าเอาไว้ได้อย่างแนบเนียน และยังถือได้ว่าเป็นศิลปะการแสดงที่โดดเด่นทั้งด้านดนตรีและเสียงขับร้องของตัวละคร
    และเนื่องใน “วันนริศ” ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 24 เมษายน 2557 ทางมหาวิทยาลัยศิลปากรจึงได้จัดการ เสวนาวิชาการ เรื่อง “กว่าจะเป็นละครดึกดำบรรพ์” ขึ้น โดยเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ให้ “นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม” หรือ “สมเด็จครู” ผู้ทรงอุทิศพระองค์ให้กับงานด้านศิลปวัฒนธรรมและการช่างของไทยมาตลอดพระชนม์ชีพ
    เสวนาวิชาการบรรยายโดย ดร.สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เป็นการบรรยายพร้อมการสาธิตการขับร้องและแสดงดนตรีไทย จากคณะศิลปะนาฏดุริยางค์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
    อาจารย์ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของละครดึกดำบรรพ์ ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นงานความคิดชิ้นสำคัญของสมเด็จครู ก่อนจะเริ่มทำละครนั้น ได้สร้างวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ซึ่งต้องประกอบด้วย ฆ้องราว 7 ใบ ระนาดทุ่มเหล็ก ซออู้ ขลุ่ยอู้ กรับจีน เครื่องดนตรีเหล่านี้จะมีโทนเสียงต่ำ ต่างจากเครื่องดนตรีของละครใน-นอก ส่วนตัวละครพระองค์ทรงคัดเลือกเอง ผู้เล่นต้องรำสวยและมีเสียงร้องไพเราะ ด้านเรื่องที่นำมาเล่น ทรงเลือกบทละครในและละครนอกมาแสดง มีทั้งหมด 7 เรื่อง อาทิ อิเหนา ตอนปีศาจนางดูร, อิเหนา ตอนตัดดอกไม้, คาวี ตอนเผาพระขรรค์ และขุนช้างขุนแผน ตอนนางวันทองหึง เป็นต้น ในสมัยนั้นจัดแสดงให้ชมเพียงแห่งเดียวคือ โรงละครดึกดำบรรพ์ จึงเป็นที่มาของชื่อ “ละครดึกดำบรรพ์”
    “นอกจากความสนุกของเนื้อเรื่องหรือเพลิดเพลินกับตัวละครแล้ว หากจะชมละครประเภทนี้ให้ได้อรรถรส จะต้องชมในมิติทางด้านดนตรี เพราะได้สัมผัสพระอัจฉริยภาพของสมเด็จครูเต็มรูปแบบ ทรงดัดแปลงเพลงที่มีอยู่แล้วให้แตกต่างจากเดิม เช่น เพลงเขมรไทรโยค" ดร.สิริชัยชาญกล่าว
    พร้อมบรรยายต่อถึงเพลงที่ทรงดัดแปลง ซึ่งปัจจุบันคนไทยยังคงรู้จัก เนื้อหาสะท้อนภาพธรรมชาติได้อย่างละเอียดลออ หลายสถาบันให้การยอมรับว่าเพลงนี้ใช้ในการส่งเสริมด้านสุนทรีย์ได้อย่างดีเยี่ยม ขณะที่ในสมัยนั้นก็ได้รับความสนใจจากต่างชาติ โดยประเทศแรกที่ชื่นชมเพลงและนำไปอะเรนจ์ใหม่ได้อย่างไพเราะและทันสมัย คือประเทศฟิลิปปินส์ แต่ก็น่าเสียที่ไม่ได้มีการบันทึกเสียงเก็บไว้
    ละครดึกดำบรรพ์ในสมัยนั้นยังถือเป็นจุดเริ่มต้นการดัดแปลงดนตรีให้มีความแปลกใหม่ยิ่งขึ้น และขณะเดียวกันยังทำให้สมเด็จครูได้ค้นพบเทคนิคใหม่เช่นกัน
    “พระองค์หยิบเอาสิ่งเคารพบูชาอย่าง “ทำนองสวดสรภัญญะ” มาใส่ในบทละครที่ประพันธ์ขึ้น ตลอดจนปรับดนตรีให้สอดรับอย่างลงตัว ตัวอย่างเช่น เรื่องคาวี ตอนเผาพระขรรค์ ดนตรีในเรื่องนั้นมีฉิ่งเป็นตัวหลักยืนจังหวะ ซึ่งบางครั้งอาจจะฟังดูไม่เข้านัก แต่นั่นคือความยากของการเล่นเพลงสรภัญญะในละครดึกดำบรรพ์ แต่ผู้ชมส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเครื่องประกอบจังหวะกันเท่าไร แต่หากตั้งใจฟังดนตรีจะสามารถเข้าถึงอรรถรสของละครได้ดี”  
    "เสน่ห์ของละครดึกดำบรรพ์ที่มีความคล้ายการแสดงโอเปร่าของฝรั่ง ประการแรกคือ ผู้ร้องกล่าวเข้าเรื่องอย่างชัดเจน ไม่ยืดเยื้อ ประการต่อมา บางช่วงบางตอนมีการขับร้องประสานเสียงที่ความไพเราะ อ่อนหวาน จังหวะไม่เร็วจนเกินไป เพื่อให้สอดรับกับท่าทางการร่ายรำของตัวละคร แต่โอเปร่าจะเร่งจังหวะให้อารมณ์ดุดัน ผู้ชมเกิดความเร้าใจ ประการสุดท้าย ดนตรีจะเป็นผู้นำและผู้ควบคุมการแสดงทั้งหมด ผู้ร้องต้องตามดนตรี แต่หากเป็นละครใน-นอก ดนตรีต้องตามผู้ร้อง”
    พร้อมทิ้งท้ายถึงการสืบสานละครดึกดำบรรพ์ด้วยว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาและสานต่อละคร อีกทั้งยังมีคนที่สนใจด้านนาฏศิลป์อยู่จำนวนมาก และในทุกๆ ปีจะจัดแสดงถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ วังคลองเตย ตำหนักปลายเนิน โดยปีนี้จัดในวันที่ 1 พฤษภาคม อย่างไรก็ตาม ละครดึกดำบรรพ์ ตลอดจนจัดแสดงในวาระสำคัญๆ สิ่งที่เป็นห่วงคือจำนวนคนมาดูในปัจจุบันที่แทบจะไม่มีแล้ว 
    นอกเหนือจากการบรรยายวิชาการครั้งนี้แล้ว ยังมี นิทรรศการ “พระที่นั่งบรมพิมาน” จัดแสดงพระประวัติและผลงานฝีพระหัตถ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ โดยจำลองบรรยากาศของห้องภายในพระที่นั่งบรมพิมาน ซึ่งเพดานห้องมีภาพเขียน “พระอาทิตย์ทรงรถ” ประดับอยู่ ซึ่งภาพนี้เป็นภาพฝีพระหัตถ์ที่หาชมได้ยาก และ นิทรรศการ “1 ทศวรรษภาพถ่ายนานาชาติ” หัวข้อ “ถิ่นกำเนิด” แสดงผลงานภาพถ่ายที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมระดับนานาชาติ 18 ชิ้น และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานภาพถ่ายฝีพระหัตถ์เข้าร่วมแสดงในครั้งนี้ด้วย ชื่อผลงานว่า “บัววิกตอเรีย”
    ทั้งหมดจัดแสดงตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2557 ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0-2849-7538.